Effect of Using Broken Job’s tears for Energy Source in Kabinburi Muscovy Rations
สุนทร เกไกรสร1* ชัยพฤกษ์ หงษ์ลัดดาพร1, สว่าง กุลวงษ์1
Suntorn Kakaisorn1 *, Chaiyapruek Hongladdaporn1, Sawang Kullawong1
บทคัดย่อ: การศึกษาผลของการใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนปลายข้าวต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี ใช้อาหารที่มีระดับปลายเดือย 5 ระดับ คือ ปลายเดือยร้อยละ 0, 8.25, 16.50, 24.75 และร้อยละ 33.00 ใช้เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี อายุ 3 วัน จำนวน 40 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 63.68 กรัม แบ่งเป็ดออกเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 4 ซ้ำ ๆ 2 ตัว ผลการทดลองพบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารทั้ง 5 สูตร ที่มีระดับปลายเดือยแตกต่างกัน มีอัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) แต่พบว่าเป็ดเทศกลุ่มที่ได้รับปลายข้าว (สูตรที่ 1) เป็นแหล่งพลังงานมีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนดีกว่า กลุ่มที่กินอาหารที่มีปลายเดือยร้อยละ 24.75 และร้อยละ 33.00 (สูตรที่ 4 และ 5) ดังนั้นเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีในช่วงอายุ 1-28 วัน สามารถใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานในสูตรอาหารได้ที่ระดับร้อยละ 33 ซึ่งมีผลทำให้สมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีใกล้เคียงกันกับการใช้ปลายข้าว
คำสำคัญ : ปลายเดือย, เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี, สมรรถนะการเจริญเติบโต
ABSTRACT: This experiment was conducted to determine levels of broken Job’s tears on growth performance in Kabinburi Muscovy. The experiment treatment feeds containing 5 levels of broken Job’s tears (0, 8.25, 16.50, 24.75 and 33.00 % on rations). Forty Kabinburi Muscovys one-day-old ( 63.68 g average body weight) were used in four replications (2 ducks per replication). The duck give five rations have show body weight gain not significant (P>0.05). Daily weight gain and gain per feed of Kabinburi muscovy did not show differ among dietary treatments (P>0.05). However Kabinburi Muscovy feed broken rice has showed higher protein efficiency ratio than Kabinburi Muscovy feed broken Job’s tears levels 24.75 and 33.00 %. Nutritionist can use level of broken Job’s tears at 33.00 % in feed for 1-28 day-old Kabinburi Muscovy is recommended.
Key Words: broken Job’s tears, kabinburi muscovy, growth performance
1 สาขาสัตวศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เลย 42000
Department of Animal Science, Faculty of Science and Technology, Rajabhat Loei University, Loei 42000
* Corresponding author: suntornka@hotmail.com
บทนำ
เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี มีขนสีขาวตลอดลำตัว มีขนสีดำเป็นจุดเด่นอยู่กลางหัว ปากสีชมพู เท้าสีเหลืองอ่อน ลำตัวยาว หน้าอกกว้าง เนื้อมาก น้ำหนักแรกเกิด 42-54 กรัม เพศผู้โตเต็มที่หนัก 5-6 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 2.6-2.8 กิโลกรัม เริ่มไข่อายุ 6-7 เดือน ไข่ได้ปีละ 150-180 ฟอง เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี ได้รับการวิจัยและพัฒนาให้เป็นพันธุ์แท้ที่สามารถเลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อป้อนตลาดได้ในระยะเวลา 10-12 สัปดาห์ (น้ำหนักประมาณ 2.8 กิโลกรัม) มีการเจริญเติบโตประมาณ 34 กรัม/ตัว/วัน น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน 420 กรัม/กิโลกรัมอาหาร (กรมปศุสัตว์, 2545) แข็งแรง ทนต่อสภาพการเลี้ยงดูในชนบท เหมาะสำหรับเกษตรกรเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคและเสริมรายได้ เดือย (Job’s tears) เป็นธัญพืชตระกูล Gramineae เช่นเดียวกับข้าวโพด และข้าวฟ่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coix lacryma-jobi L. เดือยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ และเดือยมีสรรพคุณทางยา ประกอบด้วยแป้งและเส้นใยสูง และส่วนประกอบทางเคมีของเมล็ดเดือย 1 กรัมจะมีปริมาณแป้ง คาร์โบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน เส้นใย สูงกว่าปลายข้าวในปริมาณเท่ากัน (จารุวรรณ, 2550) เดือยนิยมเพาะปลูกบนที่ลาดเชิงเขา จังหวัดเลยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 52,117 ไร่ เก็บผลผลิตได้ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ ประมาณร้อยละ 90 ส่งขายยังต่างประเทศ (สมเกียรติ, 2547) ลูกเดือยที่ผลิตได้ต้องนำมาผ่านกระบวนการสีจึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งมีผลพลอยได้ คือ ปลายเดือย รำเดือย และเปลือกเดือย ซึ่งในส่วนของปลายเดือย และรำเดือยมีปริมาณมาก และราคาประมาณ 3-8 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบอาหารเป็ดเทศ และเป็ดเทศมีสมรรถนะการเจริญเติบโตที่เหมาะสม จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์หลากหลาย และส่งเสริมการปลูกพืชในท้องถิ่นจังหวัดเลยได้อีกทางหนึ่งด้วย การวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของการใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนปลายข้าว โดยคำนวณสูตรอาหารให้มีปริมาณปลายเดือยแตกต่างกันทดแทนปลายข้าวต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี
อุปกรณ์และวิธีการ
ใช้เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี คละเพศ อายุ 3 วัน จำนวน 40 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 63.68 กรัม เลี้ยงภายในโรงเรือนทดลองมีการให้แสงตลอดเวลา แบ่งเป็ดออกเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 4 ซ้ำ ๆ ละ 2 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s Multiple Range Test (DMRT) ทำการทดลองเป็นเวลา 28 วัน ที่ฟาร์มทดลองสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย บันทึกน้ำหนักตัวเริ่มต้น และน้ำหนักตัวสุดท้ายของเป็ดเทศในแต่ละสัปดาห์ บันทึกปริมาณอาหารที่กิน ประกอบสูตรอาหารโดยเพิ่มระดับปลายเดือยทดแทนปลายข้าว คำนวณให้ได้ระดับที่แตกต่างกัน 5 ระดับ คือ ร้อยละ 0, 8.25, 16.5, 24.75 และร้อยละ 33.00 รายละเอียดส่วนผสมของวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสูตรได้แสดงไว้ใน Table 1. ปริมาณค่าโภชนะอื่น ๆ ได้คำนวณให้มีครบตามคำแนะนำของ กรมปศุสัตว์ (2545) ให้อาหารในแต่ละวันในปริมาณเต็มที่ ให้อาหารเวลา 06.30 นาฬิกา และให้น้ำดื่มอย่างเต็มที่
ผลการทดลอง
ผลการศึกษาพบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 5 ระดับ คือ ปลายเดือยร้อยละ 0, 8.25, 16.50, 24.75 และร้อยละ 33.00 มีน้ำหนักตัวสุดท้ายใกล้เคียงกัน คือ 1153.8, 1115, 1113.8, 1082.5 และ 1062.5 กรัมต่อตัว ตามลำดับ) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) สำหรับอัตราการเจริญเติบโตของเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยร้อยละ 8.25, 16.50 24.75 และร้อยละ 33.00 มีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน (37.52, 37.43, 36.43 และ 35.74 กรัมต่อตัวต่อวัน ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ใช้ปลายข้าว (38.93 กรัมต่อตัวต่อวัน) (P>0.05) เช่นเดียวกันกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน กลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 4 ระดับ มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กินใกล้เคียงกัน (233.78, 235.01, 228.03 และ 224.4 กรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ตามลำดับ) และใกล้เคียงกันกับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ไม่ใช้ปลายเดือย (242.54 กรัมต่อกิโลกรัมอาหาร) (P>0.05) ดังแสดงใน Table 2. ประสิทธิภาพการใช้โปรตีน พบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 4 ระดับ มีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนใกล้เคียงกัน โดยมีค่าเป็น 1.03, 1.01, 0.96 และ 0.92 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้พบว่ากลุ่มที่ใช้ปลายข้าว (1.10) มีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนดีกว่ากลุ่มที่ใช้ปลายเดือยร้อยละ 24.75 และร้อยละ 33.00 (0.96 และ 0.92 ตามลำดับ) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ดังแสดงใน Table 2.
สรุปและวิจารณ์
จากผลการใช้ปลายเดือยในสูตรอาหารเป็ดเทศกบินทร์บุรี พบว่าเมื่อเป็ดเทศได้รับสูตรอาหารที่ใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบมีผลทำให้มีอัตราการเจริญเติบโต สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตที่ทดสอบโดยกรมปศุสัตว์ (2545) แต่ทั้งนี้น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กินแย่กว่าที่ทดสอบพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ (2545) ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากธรรมชาติของเป็ดที่กินอาหารไปด้วยดื่มไปด้วยน้ำ และมีการหกหล่นเสียหายของอาหารเกิดขึ้นในภาชนะให้น้ำและตามพื้นคอก จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีสามารถนำโภชนะในปลายเดือยไปใช้ประโยชน์ได้ และพบว่าเมื่อระดับของปลายเดือยเพิ่มขึ้นทำให้ระดับของโปรตีนในสูตรอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ระดับโปรตีนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้เป็ดเทศมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นแต่ประการใด จึงทำให้ค่าประสิทธิภาพการใช้โปรตีนต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในเป็ดกลุ่มที่ได้รับปลายเดือยที่ร้อยละ 24.75 และ 33.00 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ปลายข้าว จากการวิจัยครั้งนี้จึงสรุปได้ว่าสามารถใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีที่อายุ 1-28 วัน ได้ถึงร้อยละ 33.00 ในสูตรอาหาร ซึ่งระดับดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลของการใช้ปลายเดือยทดแทนปลายข้าวในอาหารเป็ดเทศพันธ์กบินทร์บุรีในช่วงอายุ 28-56 วัน จะทำการศึกษาในลำดับต่อไป
คำขอบคุณ
ขอขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยและสนับสนุนทุนเพื่อการนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้
เอกสารอ้างอิง
กรมปศุสัตว์. 2545. เข้าถึงได้จาก http://www.dld.go.th/service/duck%205%20type/kabin.html.
ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2554.
จารุวรรณ บางแวก และคณะ. 2550. การผลิตเดือยคุณภาพเพื่อการส่งออก. เข้าถึงได้จาก
http://210.246.186.28/pprdo/Jobstear/Job’s%20tear.html. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2554.
สมเกียรติ ฐิตะฐาน. 2547. สถานภาพองค์ความรู้ด้านการผลิต การตลาดและการแปรรูป “เดือย” เข้าถึงได้จาก http://www.trf.or.th/research/abstract.asp?PROJECTID=PDG4720005. ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2554.
Steel, R.G. W. and J.H. Torrie. 1980. Principle and Procedures of Statistics: A Biometrical Approach (2nd Ed.). McGraw-Hill, New York.