You're welcome, This is a blog knowledge about the Animals Science

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สูตรอาหาร ความต้องการโภชนะของสุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ การจัดการฟาร์ม ครับผม by suntornka

Google search

Custom Search

Sponser one

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

Effect of Using Broken Job’s tears for Energy Source in Kabinburi Muscovy Rations

ผลการใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนปลายข้าวในสูตรอาหารเป็ดเทศกบินทร์บุรี

Effect of Using Broken Job’s tears for Energy Source in Kabinburi Muscovy Rations

สุนทร เกไกรสร1* ชัยพฤกษ์ หงษ์ลัดดาพร1, สว่าง กุลวงษ์1
Suntorn Kakaisorn1 *, Chaiyapruek Hongladdaporn1, Sawang Kullawong1

บทคัดย่อ: การศึกษาผลของการใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนปลายข้าวต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี ใช้อาหารที่มีระดับปลายเดือย 5 ระดับ คือ ปลายเดือยร้อยละ 0, 8.25, 16.50, 24.75 และร้อยละ 33.00 ใช้เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี อายุ 3 วัน จำนวน 40 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 63.68 กรัม แบ่งเป็ดออกเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 4 ซ้ำ ๆ 2 ตัว ผลการทดลองพบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารทั้ง 5 สูตร ที่มีระดับปลายเดือยแตกต่างกัน มีอัตราการเจริญเติบโต น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) แต่พบว่าเป็ดเทศกลุ่มที่ได้รับปลายข้าว (สูตรที่ 1) เป็นแหล่งพลังงานมีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนดีกว่า กลุ่มที่กินอาหารที่มีปลายเดือยร้อยละ 24.75 และร้อยละ 33.00 (สูตรที่ 4 และ 5) ดังนั้นเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีในช่วงอายุ 1-28 วัน สามารถใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานในสูตรอาหารได้ที่ระดับร้อยละ 33 ซึ่งมีผลทำให้สมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีใกล้เคียงกันกับการใช้ปลายข้าว

คำสำคัญ : ปลายเดือย, เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี, สมรรถนะการเจริญเติบโต

ABSTRACT: This experiment was conducted to determine levels of broken Job’s tears on growth performance in Kabinburi Muscovy. The experiment treatment feeds containing 5 levels of broken Job’s tears (0, 8.25, 16.50, 24.75 and 33.00 % on rations). Forty Kabinburi Muscovys one-day-old ( 63.68 g average body weight) were used in four replications (2 ducks per replication). The duck give five rations have show body weight gain not significant (P>0.05). Daily weight gain and gain per feed of Kabinburi muscovy did not show differ among dietary treatments (P>0.05). However Kabinburi Muscovy feed broken rice has showed higher protein efficiency ratio than Kabinburi Muscovy feed broken Job’s tears levels 24.75 and 33.00 %. Nutritionist can use level of broken Job’s tears at 33.00 % in feed for 1-28 day-old Kabinburi Muscovy is recommended.

Key Words: broken Job’s tears, kabinburi muscovy, growth performance

1 สาขาสัตวศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์แลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เลย 42000
Department of Animal Science, Faculty of Science and Technology, Rajabhat Loei University, Loei 42000
* Corresponding author: suntornka@hotmail.com

บทนำ

เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี มีขนสีขาวตลอดลำตัว มีขนสีดำเป็นจุดเด่นอยู่กลางหัว ปากสีชมพู เท้าสีเหลืองอ่อน ลำตัวยาว หน้าอกกว้าง เนื้อมาก น้ำหนักแรกเกิด 42-54 กรัม เพศผู้โตเต็มที่หนัก 5-6 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 2.6-2.8 กิโลกรัม เริ่มไข่อายุ 6-7 เดือน ไข่ได้ปีละ 150-180 ฟอง เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี ได้รับการวิจัยและพัฒนาให้เป็นพันธุ์แท้ที่สามารถเลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อป้อนตลาดได้ในระยะเวลา 10-12 สัปดาห์ (น้ำหนักประมาณ 2.8 กิโลกรัม) มีการเจริญเติบโตประมาณ 34 กรัม/ตัว/วัน น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน 420 กรัม/กิโลกรัมอาหาร (กรมปศุสัตว์, 2545) แข็งแรง ทนต่อสภาพการเลี้ยงดูในชนบท เหมาะสำหรับเกษตรกรเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคและเสริมรายได้ เดือย (Job’s tears) เป็นธัญพืชตระกูล Gramineae เช่นเดียวกับข้าวโพด และข้าวฟ่าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coix lacryma-jobi L. เดือยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ และเดือยมีสรรพคุณทางยา ประกอบด้วยแป้งและเส้นใยสูง และส่วนประกอบทางเคมีของเมล็ดเดือย 1 กรัมจะมีปริมาณแป้ง คาร์โบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน เส้นใย สูงกว่าปลายข้าวในปริมาณเท่ากัน (จารุวรรณ, 2550) เดือยนิยมเพาะปลูกบนที่ลาดเชิงเขา จังหวัดเลยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 52,117 ไร่ เก็บผลผลิตได้ 300-350 กิโลกรัมต่อไร่ ประมาณร้อยละ 90 ส่งขายยังต่างประเทศ (สมเกียรติ, 2547) ลูกเดือยที่ผลิตได้ต้องนำมาผ่านกระบวนการสีจึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งมีผลพลอยได้ คือ ปลายเดือย รำเดือย และเปลือกเดือย ซึ่งในส่วนของปลายเดือย และรำเดือยมีปริมาณมาก และราคาประมาณ 3-8 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบอาหารเป็ดเทศ และเป็ดเทศมีสมรรถนะการเจริญเติบโตที่เหมาะสม จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรในการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์หลากหลาย และส่งเสริมการปลูกพืชในท้องถิ่นจังหวัดเลยได้อีกทางหนึ่งด้วย การวิจัยในครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของการใช้ปลายเดือยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนปลายข้าว โดยคำนวณสูตรอาหารให้มีปริมาณปลายเดือยแตกต่างกันทดแทนปลายข้าวต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตของเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี

อุปกรณ์และวิธีการ

ใช้เป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรี คละเพศ อายุ 3 วัน จำนวน 40 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 63.68 กรัม เลี้ยงภายในโรงเรือนทดลองมีการให้แสงตลอดเวลา แบ่งเป็ดออกเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 4 ซ้ำ ๆ ละ 2 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยโดยวิธี Duncan’s Multiple Range Test (DMRT) ทำการทดลองเป็นเวลา 28 วัน ที่ฟาร์มทดลองสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย บันทึกน้ำหนักตัวเริ่มต้น และน้ำหนักตัวสุดท้ายของเป็ดเทศในแต่ละสัปดาห์ บันทึกปริมาณอาหารที่กิน ประกอบสูตรอาหารโดยเพิ่มระดับปลายเดือยทดแทนปลายข้าว คำนวณให้ได้ระดับที่แตกต่างกัน 5 ระดับ คือ ร้อยละ 0, 8.25, 16.5, 24.75 และร้อยละ 33.00 รายละเอียดส่วนผสมของวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสูตรได้แสดงไว้ใน Table 1. ปริมาณค่าโภชนะอื่น ๆ ได้คำนวณให้มีครบตามคำแนะนำของ กรมปศุสัตว์ (2545) ให้อาหารในแต่ละวันในปริมาณเต็มที่ ให้อาหารเวลา 06.30 นาฬิกา และให้น้ำดื่มอย่างเต็มที่

ผลการทดลอง

ผลการศึกษาพบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 5 ระดับ คือ ปลายเดือยร้อยละ 0, 8.25, 16.50, 24.75 และร้อยละ 33.00 มีน้ำหนักตัวสุดท้ายใกล้เคียงกัน คือ 1153.8, 1115, 1113.8, 1082.5 และ 1062.5 กรัมต่อตัว ตามลำดับ) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) สำหรับอัตราการเจริญเติบโตของเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยร้อยละ 8.25, 16.50 24.75 และร้อยละ 33.00 มีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน (37.52, 37.43, 36.43 และ 35.74 กรัมต่อตัวต่อวัน ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ใช้ปลายข้าว (38.93 กรัมต่อตัวต่อวัน) (P>0.05) เช่นเดียวกันกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กิน กลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 4 ระดับ มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กินใกล้เคียงกัน (233.78, 235.01, 228.03 และ 224.4 กรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ตามลำดับ) และใกล้เคียงกันกับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ไม่ใช้ปลายเดือย (242.54 กรัมต่อกิโลกรัมอาหาร) (P>0.05) ดังแสดงใน Table 2. ประสิทธิภาพการใช้โปรตีน พบว่าเป็ดเทศที่ได้รับอาหารที่มีปลายเดือยทั้ง 4 ระดับ มีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนใกล้เคียงกัน โดยมีค่าเป็น 1.03, 1.01, 0.96 และ 0.92 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้พบว่ากลุ่มที่ใช้ปลายข้าว (1.10) มีประสิทธิภาพการใช้โปรตีนดีกว่ากลุ่มที่ใช้ปลายเดือยร้อยละ 24.75 และร้อยละ 33.00 (0.96 และ 0.92 ตามลำดับ) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ดังแสดงใน Table 2.

สรุปและวิจารณ์

จากผลการใช้ปลายเดือยในสูตรอาหารเป็ดเทศกบินทร์บุรี พบว่าเมื่อเป็ดเทศได้รับสูตรอาหารที่ใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบมีผลทำให้มีอัตราการเจริญเติบโต สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตที่ทดสอบโดยกรมปศุสัตว์ (2545) แต่ทั้งนี้น้ำหนักตัวที่เพิ่มต่อปริมาณอาหารที่กินแย่กว่าที่ทดสอบพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์ (2545) ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากธรรมชาติของเป็ดที่กินอาหารไปด้วยดื่มไปด้วยน้ำ และมีการหกหล่นเสียหายของอาหารเกิดขึ้นในภาชนะให้น้ำและตามพื้นคอก จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีสามารถนำโภชนะในปลายเดือยไปใช้ประโยชน์ได้ และพบว่าเมื่อระดับของปลายเดือยเพิ่มขึ้นทำให้ระดับของโปรตีนในสูตรอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ระดับโปรตีนที่เพิ่มขึ้นไม่ทำให้เป็ดเทศมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นแต่ประการใด จึงทำให้ค่าประสิทธิภาพการใช้โปรตีนต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในเป็ดกลุ่มที่ได้รับปลายเดือยที่ร้อยละ 24.75 และ 33.00 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ปลายข้าว จากการวิจัยครั้งนี้จึงสรุปได้ว่าสามารถใช้ปลายเดือยเป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารเป็ดเทศพันธุ์กบินทร์บุรีที่อายุ 1-28 วัน ได้ถึงร้อยละ 33.00 ในสูตรอาหาร ซึ่งระดับดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลของการใช้ปลายเดือยทดแทนปลายข้าวในอาหารเป็ดเทศพันธ์กบินทร์บุรีในช่วงอายุ 28-56 วัน จะทำการศึกษาในลำดับต่อไป

คำขอบคุณ

ขอขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่สนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยและสนับสนุนทุนเพื่อการนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้

เอกสารอ้างอิง

กรมปศุสัตว์. 2545. เข้าถึงได้จาก http://www.dld.go.th/service/duck%205%20type/kabin.html.

ค้นเมื่อ 15 กันยายน 2554.

จารุวรรณ บางแวก และคณะ. 2550. การผลิตเดือยคุณภาพเพื่อการส่งออก. เข้าถึงได้จาก
http://210.246.186.28/pprdo/Jobstear/Job’s%20tear.html. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2554.
สมเกียรติ ฐิตะฐาน. 2547. สถานภาพองค์ความรู้ด้านการผลิต การตลาดและการแปรรูป “เดือย” เข้าถึงได้จาก http://www.trf.or.th/research/abstract.asp?PROJECTID=PDG4720005. ค้นเมื่อ 23 กันยายน 2554.
Steel, R.G. W. and J.H. Torrie. 1980. Principle and Procedures of Statistics: A Biometrical Approach (2nd Ed.). McGraw-Hill, New York.

Sponser

News in Thailand

.