ลักษณะโดยทั่วไปของวิตามินอี
วิตามินอี เป็น antioxidant ที่มีพลังสำคัญภายในเซลล์ ช่วยลด lipid peroxidation ป้องกันการสลายตัวของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในเยื่อบุเซลล์ และโครงสร้างอื่น ๆ ของเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายโดยอนุมูลเสรีหรือ free radicals วิตามินอี ถูกค้นพบโดย Evans และ Bishop ในปี ค.ศ.1922 เมื่อพบว่าหนูที่ถูกเลี้ยงด้วยสารอาหารหลักไม่สามารถมีลูกได้ต่อเมื่อให้น้ำมันพืช เช่น wheat germ ถั่วลิสง และข้าวโพดร่วมไปด้วย จะช่วยให้หนูมีลูกดกได้ ในปี ค.ศ.1924 Sure ตั้งชื่อสารที่มีอยู่ในน้ำมันพืชและสารอาหารดังกล่าวว่า วิตามินอี หรือ antisterility vitamin ต่อมาในปี ค.ศ.1928 Evans และ Sure พบว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่ขาดวิตามินอี จะเป็นอัมพาตและสัตว์อีกหลายชนิดเมื่อขาดวิตามินอี แล้ว กล้ามเนื้อจะฝ่อลีบ และเป็นหมัน ต่อมาในปี ค.ศ.1936 Evans และคณะ แยกวิตามินอี ได้จากน้ำมัน Wheat germ พบว่ามีธรรมชาติเป็นแอลกอฮอล์ จึงตั้งชื่อให้ว่า alpha tocopherol ซึ่งมาจากภาษากรีก คำว่า tokos มีความหมายว่า child birth, phero คือ to bear และ ol แสดงว่าเป็นพวกแอลกอฮอล์ ต่อมา Fernholz ได้หาสูตรโครงสร้างของแอลฟาโทโคเฟอรอลได้ ในปี ค.ศ.1938 และในปีเดียวกัน Karrer ก็สามารถสังเคราะห์วิตามินอี ได้(1)
แหล่งกำเนิด
วิตามินอีพบมากในใบอ่อนของพืชที่มีสีเขียว เช่น หญ้าอัลฟาลฟ่า (alfafa) ในน้ำมันพืชจะมีวิตามินอีมากที่สุด เช่นน้ำมันรำ น้ำมันลินสีด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีวิตามินอีอยู่น้อย ยกเว้นไข่จากแม่ไก่ที่ได้รับวิตามินอี มาก ปัจจุบันมีการสังเคราะห์วิตามินอีใช้แล้ว ส่วนน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าว มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณแต่ละชนิดของโทโคเฟอรอลที่มีในน้ำมันพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันมาก เช่น น้ำมันข้าวโพด มีแอลฟา-โทโคเฟอรอล เพียง 10% ของโทโคเฟอรอลรวม ส่วนน้ำมันเมล็ดฝ้ายมีร้อยละ 60 และน้ำมันดอกคำฝอยมีถึง ร้อยละ 90 เป็นต้น
พืชที่มีใบสีเขียวเกือบทุกชนิดมีวิตามินอี แต่ไม่มาก น้ำมันตับปลาและน้ำมันวัวมีวิตามินอีเพียงเล็กน้อย ในน้ำมันคนที่มากกว่าน้ำนมวัว 2-4 เท่า โคลอสตรัมมีมากกว่าน้ำนมวัวถึง 20 เท่า ปริมาณวิตามินอี ในเนื้อ ไข่และตับ เปลี่ยนแปลงได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารไขมันที่ใช้เลี้ยงสัตว์ปริมาณของโทโคเฟอรอลในอาหารชนิดต่าง ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1 (Nelson and Fischer, 1980)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น